ข่าวสารประชาสัมพันธ์

รุ่นพี่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ “อ้อน-วราลี ใจจง นักออกแบบรุ่นใหม่หัวใจนักพัฒนา”

“อ้อน-วราลี ใจจง นักออกแบบรุ่นใหม่หัวใจนักพัฒนา”

วันนี้เราจะพาน้องๆ ไปรู้จักกับรุ่นพี่ศิษย์เก่าที่เราภูมิใจ พี่อ้อน-วราลี ใจจง ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (แบบที่ 23) ปัจจุบันทำงานเป็นอาสาสมัครในต่างประเทศกับโครงการ “อาสาสมัครเพื่อนไทย” (Friends from Thailand – FFT) ถือเป็นอีกคนไม่หยุดพัฒนาตัวเองและทำในสิ่งที่ชื่นชอบไปพร้อมๆ กัน ด้วยการออกเดินทางหาประสบการณ์โดยนำความรู้และความสามารถทางด้านการออกแบบที่ได้เล่าเรียนมาไปถ่ายทอดให้กับประชาชน และคนหูหนวกที่ประเทศภูฏาน

 

จุดเริ่มต้นในการเดินทางสู่นักพัฒนา...อาสาสมัครเพื่อนไทย (Friends from Thailand – FFT)

หลังจากที่เรียนจบ อ้อน-วราลี ก็ได้เริ่มเส้นทางนักพัฒนารุ่นใหม่ในโครงการอาสาสมัครเพื่อนไทย (Friends from Thailand –FFT) ของกระทรวงการต่างประเทศ ภายใต้ภารกิจการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาของไทยกับต่างประเทศ ของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยได้จัดส่งอาสาสมัครไทยไปปฏิบัติงานในต่างประเทศภายใต้โครงการพัฒนาและตามคำขอของประเทศคู่ร่วมมือต่างๆ ส่งผู้เชี่ยวชาญไปปฏิบัติงาน และการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์สำหรับดำเนินงาน โดยมุ่งเป้าหมายสู่ผู้รับในระดับท้องถิ่นและประชาชน เสริมสร้างความสัมพันธ์และทัศนคติที่ดีต่อประเทศไทยในระดับประชาชน ส่งเสริมเอกลักษณ์ไทย รวมทั้งเป็นการพัฒนาและขยายโอกาสให้บุคลากรของไทยในระดับคนรุ่นใหม่ได้พัฒนาศักยภาพในการทำงานระดับนานาชาติเพิ่มขึ้น โดยประเทศเป้าหมายที่ส่งอาสาสมัครไปปฏิบัติงานจะเป็นกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และประเทศที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญในการให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ เช่น ภูฏาน ติมอร์-เลสเต และประเทศในแอฟริกา

 

“ซึ่ง ภูฏาน เป็นประเทศที่เราเลือกแบบไม่ลังเล ด้วยความที่เราชื่นชอบอยู่แล้วเป็นทุนเดิม และประกอบกับตำแหน่งที่เปิดรับสมัครมีความเกี่ยวข้องกับที่เราเรียนมาพอดี โดยสถานที่ได้ไปปฏิบัติงานเป็นโรงเรียนสอนคนหูหนวก “Wangsel” ตั้งอยู่ที่เมืองพาโร ประเทศภูฏาน ในตำแหน่งผู้ช่วยสอนด้านการผลิตสื่อโสตทัศน์ เราได้ใช้ความรู้ทางด้านออกแบบที่เราเรียนมานำไปถ่ายทอดให้กับน้องๆ นักเรียน คุณครู บุคลากรที่โรงเรียนได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกแบบกราฟิกต่างๆ ถ่ายภาพ แต่งภาพ ถ่ายและตัดต่อวีดีโอ ร่วมไปถึงทำสื่อการเรียนการสอนต่างๆ ในโรงเรียนด้วย ถือได้ว่าเราใช้องค์ความรู้ของเราที่มีทั้งหมดกับงานที่ทำจริงๆ”

 

“พูดถึงการใช้ชีวิตที่นี่ผู้คนน่ารักมากให้การต้อนรับดูแลเป็นอย่างดีตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่ผ่านมา สิ่งที่จะต้องเรียนรู้และปรับตัวมากที่สุดคือการเรียนรู้ภาษามือของที่นั้นเพราะเราต้องทำงานกับคนหูหนวก เพื่อที่จะได้สื่อสารกันให้เข้าใจยิ่งขึ้น เมื่อถึงวันหยุดเราก็เดินทางท่องเที่ยวและศึกษาวัฒนธรรมต่างๆ ของประเทศภูฏาน แม้การเดินทางจะยังไม่มีความสะดวกสบายมากนัก แต่ก็เป็นประเทศเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ โดดเด่นในเรื่องวัฒนธรรม อารยธรรม และสถาปัตยกรรมอาคารบ้านเรือนแบบทิเบตที่สวยงามโดดเด่น ส่วนตัวแล้วชอบวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายของชาวภูฏาน การแต่งชุดประจำชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และธรรมชาติที่สวยงามแบบไม่มีความเจริญจากภายนอกเข้ามารบกวน เรียกได้ว่าเป็นสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชียที่ชวนให้อยากสัมผัสด้วยตัวเองจริงๆ ค่ะ”

 

ชีวิตในรั้วคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ

สำหรับการเรียน และการสอนภายในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ได้เรียนรู้เรื่องการออกแบบที่หลายหลาย และเครื่องมือในการเรียนการสอนที่ทันสมัย ได้ลงมือทำจริง เน้นให้เราได้เรียนรู้และคิดในสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา 4 ปี ที่เรียนมามีครบทุกรสชาติเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนเราก็เต็มที่ในทุกวิชา มีทั้งยากและง่ายผสมปนเปกันไปแต่เราก็ผ่านมาได้ด้วยคำแนะนำจากอาจารย์ การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันจากเพื่อนๆ และด้วยความพยายามของตัวเราเอง ทางคณะยังมีกิจกรรมที่ทำให้รุ่นพี่-รุ่นน้อง ได้พบปะเพื่อสร้างสรรค์ผลงาน แลกเปลี่ยนไอเดียกันอยู่เสมออีกด้วยค่ะ

 

ฝากถึงน้องๆ ที่มีความฝัน

เรื่องตั้งใจเรียนเป็นสิ่งสำคัญพอๆ กับการค้นหาว่าเราชอบอะไรและอย่าปิดกั้นโอกาสดีๆ ที่เข้ามาหาเราให้รีบคว้าเอาไว้และลงมือทำให้เต็มที่ เราจะทำมันได้ดี อาจมีเหนื่อยบ้าง ท้อแท้บ้างไม่เป็นไร ท้อได้แต่อย่าถอย ต้องอดทน และอย่าลืมออกไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ชีวิตด้วยนะคะ