บทความ : จำปาลาว On The Beach Project กับการบูรณาการวิชาชีพของบัณฑิตนักปฏิบัติสองแผ่นดินสู่มหาวิทยาลัยดิจิตอล

ที่มา : งานการจัดการความรู้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้จัดโครงการค่ายนักออกแบบสายสัมพันธ์อาเซียนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่บูรณาการด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือเรียกชื่อย่อสั้น ๆ ว่า“ Workshop 3 จำปาลาว On the beach ” ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยความร่วมมือกับทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว และคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ซึ่งในปีนี้ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 19 สิงหาคม 2559 ณ ชื่นวารินทร์รีสอร์ท อำเภอแกลง จังหวัดระยอง

โครงการของทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ จัดโดยการใช้หลักการบูรณาการ ซึ่งในการจัดโครงการครั้งนี้ได้มีการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับนโยบายของทางอธิการบดี ที่จะให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้นำทางด้านดิจิตอล จึงได้มีการนำเอาเทคโนโลยีทางด้านการออกแบบกราฟฟิกผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมถึงการนำเสนอผลงานการออกแบบด้านสถาปัตยกรรม ด้วยการนำเสนอแบบ ARCHITECTURAL PRESENTATION 3D ANIMATION และมีการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ตลอดทั้งโครงการโดยการถ่ายทำของทางคณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน เพื่อเป็นการพัฒนามาตรฐานทางการออกแบบโดยโปรแกรมการออกแบบ เพื่อเป็นการยกระดับของบัณฑิตนักปฏิบัติให้ก้าวทันเทคโนโลยีทางด้านการออกแบบ และเป็นที่ต้องการของสถานประกอบการในสภาพสังคมยุคดิตอลที่เน้นการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินธุรกิจ

นักศึกษาที่เข้าร่วมในโครงการครั้งนี้จะได้รับประสบการณ์ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และสถาปัตยกรรม จากโจทย์จากสภาพปัญหาจริงในชุมชนของทางจังหวัดระยอง หนองคาย และเพชรบุรี รวมถึงการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านโปรแกรมการออกแบบกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว และยังเป็นการสร้างเครื่อข่ายระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กับมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เพื่อการพัฒนาในด้านอื่น ๆ ต่อไป

ภาพจากบทความ

บทความ : บัณฑิตมืออาชีพด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสถาปัตยกรรม

นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ บัณฑิตมืออาชีพด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์  ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสถาปัตยกรรม

โดย : งานการจัดการความรู้ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร นุ้งเน้นพัฒนาด้านการเรียนการสอนโดยการใช้หลักการบูรณาการแบบเต็มรูปแบบเข้ามามีส่วนร่วมในชั้นเรียน โดยการนำโจทย์จากสภาพปัญหาจริงในชุมชนรอบพื้นที่ในความรับผิดชอบของทางมหาวิทยาลัย รวมถึงชุมชนในจังหวัดที่ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้ลงนามความร่วมมือ MOU เช่น จังหวัดหนองคาย จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

ซึ่งในภาคการศึกษา 2/2559 สาขาวิชาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสาขาวิชาสถาปัตยกรรม ได้มีการนำโจทย์จากสภาพปัญหาจริงจากผู้ประกอบการในจังหวัดหนองคาย เข้ามามีส่วนร่วมในชั้นเรียนโดยการนำผลิตภัณฑ์ OTOP มาเป็นโจทย์ให้นักศึกษาได้ทำการออกแบบพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับสินค้าสู่สากล โดยจากการลงมือปฏิบัติด้านการออกแบบนักศึกษาจะได้ติดต่อเพื่อเก็บข้อมูลจากผู้ประกอบการเพื่อสอบถามถึงความต้องการและลักษณะของบรรจุภัณฑ์กับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ โดยมีการปรับปรุงแก้ไขตามข้อแนะนำของผู้ประกอบการ เปรียบเสมือนนักศึกษาเป็นนักออกแบบที่รับงานจริงมาดำเนินการ โดยมีอาจารย์เป็นเพียงผู้ที่คอยให้คำแนะนำเท่านั้น

นักศึกษากับการทำหน้าที่วิทยากรต้นกล้าใหม่ด้านการออกแบบ : จากการเรียนการสอนในรูปแบบดังกล่าวทำให้ “นักศึกษา” ได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปเป็นวิทยากรใน โครงการ “ Creative Quality Development ” ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นโดย กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย  โดยเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ สร้างมาตรฐาน ความรู้ความเข้าใจด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ ให้แก่ผู้ประกอบการ OTOP ทั้วประเทศ 76 จังหวัด โดยทางนักศึกษาได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพร ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลช มหานาค จังหวัดกรุงเทพมหานคร

นักศึกษากับการประกวด OTOP Midyear 2016 : สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดหนองคาย ได้ดำเนินโครงการประกวดออกแบบบรรจุภัณฑ์ ระดับจังหวัด โดยจากการประกวดดังกล่าวนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ได้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด และได้ผ่านการคัดเลือกผลงานการออกแบบบรรจุภัณฑ์ จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ โดยได้รับเลือกเป็นตัวแทนจังหวัดหนองคาย เข้าร่วมประกวดในงาน OTOP Midyear 2016 สินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ระดับประเทศ ระหว่างวันที่ 6-13 มิถุนายน 2559 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี โดย มีนักศึกษาที่ได้รับคัดเลือกเพื่อเป็นตัวแทนจังหวัดเข้าแข่งขัน ดังนี้ นางสาวมานิตา สิงหาสนธิบุตร ,นางสาวชุติมณฑน์ อุดมทิตรัชต์ ,นางสาวภารดี อารยะกุล ,นางสาวชญาณี แหยมเจริญ ,นางสาวกนกนาท ทรัพย์พาณิช

ซึ่งในการประกวด OTOP Midyear 2016 ระดับประเทศ นางสาวชุติมณฑน์ อุดมทิตรัชต์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ได้รับรางวัลประเภทผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่ม รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2 บรรจุภัณฑ์น้ำฟักข้าว

ภาพจากบทความ